วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จาก นสพ.เดลินิวส์ : บทความชื่อ "ธรายอาร์ม"


บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ในเดลินิวส์ คอรั่ม ช้อปฉลาดตลาดอัจฉริยะ เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ ที่ 02 พฤษภาคม 2554 ทาง http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=323&contentID=136024ซึ่งเขียนโดยคุณวีระพันธ์ โตมีบุญ


การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานยังไม่สิ้นสุด เพราะเป้าหมาย ความต้องการของสถานประกอบการกับลูกจ้าง มีแต่สวนทางกัน

ฝ่ายหนึ่งอยากได้เพิ่ม ขณะที่อีกฝ่ายพอใจกับรายจ่ายที่ต่ำกว่า เพื่อกดภาระต้นทุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างการต่อสู้ บางครั้งฝ่ายหนึ่งกิจการอยู่ไม่ได้ อีกฝ่ายก็เสียรายได้และโอกาสอย่างน่าเสียดาย

แต่กลุ่มคนงานสหภาพแรงงานไทร อัมพ์ผลิตชุดชั้นในแบรนด์ดัง 1,959 คนที่ถูกเลิกจ้างเพราะคำสั่งซื้อลดลง เมื่อกลางปี 2552 โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จนต้องชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ไม่ปล่อยเวลาการต่อสู้เรียกร้องให้เป็นช่วงสูญรายได้ไปเปล่า ๆ ได้ใช้จุดชุมนุมเป็นแหล่งผลิตสินค้าของกลุ่มลูกจ้างเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเอง 


พวกเขาตัดเย็บกางเกงในชั้นดี ระดับคุณภาพใกล้เคียงกับที่เคยผลิตให้นายจ้าง ออกจำหน่าย แบรนด์ธรายอาร์ม (Try arm ) โดยทุนแรกเริ่ม ก็ขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานมาซื้อจักรอุตสาหกรรมการผลิต และเดินหน้าไปทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ขอได้ไม่ครบ

จิตรา คชเดช อดีตสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ผู้ประสานงานและดูแลเว็บไซต์ของกลุ่มเล่าถึงการประกอบการด้วยฝีมือของผู้ถูกเลิกจ้างล้วน ๆ ว่า ผลงานทุกขั้นตอน วัตถุดิบส่วนใหญ่ในระบบเกิดจากน้ำพัก น้ำแรงของพวกเธอทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ต้องทำกันเอง จึงทราบกันดีว่าควรเริ่มต้นอย่างไร จะจัดหาวัตถุดิบจากไหน จะไม่คล่องตัวบ้างก็เป็นช่วงแรกที่ยังซื้อได้ในปริมาณไม่มากพอจะขอราคาพิเศษ 

ธรายอาร์มวางหลักการดำเนินกิจการแบบสหกรณ์และยึดหลักประชาธิปไตยในองค์กร ให้คนงานทุกคนเป็นเจ้าของ เป็นสินค้าที่ปลอดคราบเลือดและน้ำตา เป็นสินค้าคุณภาพ แต่ขายปลีกเพียง 69, 79, 89 ถึง 100 บาท ทั้ง ๆ ที่ทำได้ระดับแบรนด์ดังที่ตั้งราคาเริ่มต้นสองร้อยกว่าบาทขึ้นไป

จุดเด่นที่ผลิตภัณฑ์จากแรงฮึดของผู้ใช้แรงงาน คือการใส่ใจรายละเอียด จนแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่ายี่ห้อดัง อย่างเช่น ทำให้ธรายอาร์มมีส่วนก้นที่กระชับกว่า “เราไม่ใช่แรงงานที่ผลิตอย่างเดียว แต่ด้วยราคาต่ำทำให้พวกเราก็ซื้อใช้ได้ จึงทราบรายละเอียดในฐานะผู้ใช้ และนำกลับมาแก้ไข”

ถึงจะมีความสามารถเฉพาะการผลิต มิใช่มืออาชีพทางการตลาด แต่ด้วยความเข้าใจในหมู่ผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากคนงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆช่วยกันซื้อใช้ ร้านหนังสือ ร้านขายกาแฟ หลายแห่งชอบใจแนวทางการต่อสู้ รับสินค้าไปวางจำหน่าย สหภาพแรงงานจากนอกประเทศก็ช่วยซื้อ

“เราตกลงกันว่า เดือนแรกอาจไม่มีค่าแรงจ่ายแน่ เมื่อได้การตอบรับที่ดีก็มีเงินพอจ่าย และเมื่อผ่านมาได้ 1 ปีก็ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น” จิตรากล่าว

นอกจากแหล่งจำหน่ายและการขายถึงผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ธรายอาร์ม เปิดเว็บไซต์ เพื่อทำการตลาด แต่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จิตรา จึงเข้ามาจับงานนี้ โดยปรับให้มีเว็บhttp://tryarm.blogspot.com/ (www.tryarm.org) เป็นพื้นที่แสดงภาพสินค้า ผู้สนใจเห็นภาพแล้วต้องการรูปแบบใดก็ส่งอีเมลหรือโทรฯเข้ามาสั่ง ซึ่งก็อาจได้คำตอบทันที โดยจิตราจะวิ่งลงไปดูว่ามีของหรือไม่ แล้วขึ้นมาให้คำตอบทันที

นอกจากเว็บไซต์ ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างกลุ่มนี้ ยังเปิดเฟซ บุ๊กที่www.facebook.com/tryarm ไว้เป็นที่ให้ลูกค้า คนทั่วไป เข้ามากดไลท์ บอกความถูกใจ ร่วมเป็นเครือข่ายสื่อสารสั่งซื้อกันเป็นประจำ

จิตราบอกว่า นอกจากซื้อใช้เอง ยังได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ สั่งซื้อคราวละมาก ๆเพื่อมอบเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงผู้ต้องขังหญิงที่ขาดแคลน

ประสบการณ์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ เป็นที่สนใจของหลายฝ่ายรวมถึงสหภาพแรงงานย่านเอเชียหลายประเทศที่ยังอยู่กับวังวนการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะถึงเป้าหมายที่คาดหวังในวันใด บางประเทศเริ่มสนใจจะนำไปใช

การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานยังดำเนินต่อไป แต่เหล่าลูกจ้างกลุ่มนี้ได้พบเส้นทางสายใหม่ ซึ่งทำท่าจะไปได้สวย ช่วยกันซื้อใส่ด้วยนะ.