วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

VDO Clip รู้จักตัวตน “จิตรา คชเดช” เจ้าของป้าย “ดีแต่พูด”






จิตรา คชเดช  เจ้าของป้าย “ดีแต่พูด” บอกเล่าเส้นทางการต่อสู้จากแรงงานสตรีในโรงงาน ตั้งแต่ปี 2536  ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นตัวแทน “สหภาพแรงงาน”  ต่อรองกับนายจ้าง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกจ้าง   เธอทำงานกับโรงงานผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ยาวนานถึง 16 ปี จนกระทั่งถูกปลดออกเมื่อปี 2551   อันเป็นผลจากบทบาทการต่อสู้ด้านแรงงาน และบทบาทการคัดค้านรัฐประหาร  จนถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองเรื่องสถาบันเบื้องสูง

จิตรา บอกเล่าสาเหตุที่ชูป้าย “ดีแต่พูด” ในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นในวันสตรีสากล เพราะเตรียมตัวจะขึ้นเวทีเสวนาเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นนายกรัฐมนตรีปาฐกถานำ  จึงใช้ป้าย “ดีแต่พูด” เพื่อสื่อความหมายว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสื่อสารออกมา ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย หรือการอภิปรายในสภา ส่วนใหญ่ปฏิบัติจริงไม่ได้ตามที่พูด

จิตรา ยอมรับป้าย “ดีแต่พูด” ทำให้บุคคลสาธารณะที่ใช้ภาษีของประชาชนต้องตระหนักและรับผิดชอบต่อคำพูด  มิใช่พูดโดยไม่รับผิดชอบ

นักต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน ยังเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน  และทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553  ด้วยการมอบแว่นขยายเป็นสัญลักษณ์ให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 สิงหาคม 2554 เวลา 21:50 น.